น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางระกำปริมาณเพิ่มขึ้น บริเวณที่มีน้ำท่วมขังนานนับเดือนเริ่มมีกลิ่นเหม็น พระภิกษุสงฆ์นำข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่มแจกเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น ส่วนแผนการระบายน้ำในทุ่งบางระกำในสภาะปกติ จะเพิ่มการระบายน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. และระบายน้ำออกให้เหลือในระดับเก็บกักในคลองธรรมชาติและแปลงนาไม่เกินวันที่ 30 พ.ย. เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.ตามปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปรังของลุ่มเจ้าพระยา

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 11 ต.ค. 2567 คณะพระภิกษุสงฆ์อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก ลงเรือท้องแบนไปแจกข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านเรือน และน้ำท่วมถนนสาธารณะทางเขาออกหมู่บ้านความลึกกว่า 2 เมตร เหมือนติดเกาะไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก โดย ครูวิโรจน์ ธรรมากร เจ้าอาวาสวัดกรุงกรัก กล่าวว่า คณะสงฆ์อำเภอบางระกำได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อนำสิ่งของทั้งหมดไปแจกให้ญาติโยมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เป็นการให้กำลังใจญาติโยม และช่วยเหลือญาติโยมเมื่อประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อน ตอบแทนที่ญาติโยมเคยทำบุญตักบาตร หาของดี ๆ มาถวายพระ ซึ่งในวันนี้ได้จัดส่งยังชีพทั้งสิ้น 200 ชุด มอบให้ครัวเรือนละ 1 ชุด จะมีข้าวสาร 3 กิโลกรัม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 10 ซอง ไข่ไก่ 10 ฟอง น้ำ 12 ขวด และเวลา 18.00 น. วันที่ 12 ต.ค. คณะสงฆ์อำเภอบางระกำจะออกบิณฑบาตผักสด ข้าวสาร อาหารแห้งและน้ำดื่ม ที่ตลาดผักข้างโรงเรียนพุทธชินราช ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในอำเภอบางระกำต่อไป

ด้าน นายชำนาญ  ชูเที่ยง ผอ.โครงการชลประทาน จ.พิษณุโลก ได้สรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ยม-น่าน จ.พิษณุโลก ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ว่า สถานการณ์น้ำโดยสรุปภาพรวม ดังนี้ จังหวัดพิษณุโลก มีแม่น้ำสายหลัก 2 สาย ที่ไหลผ่านได้แก่ แม่น้ำน่าน และ แม่น้ำยม มีระบบชลประทานที่สำคัญ ในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, เขื่อนนเรศวร และ โครงการบางระกำโมเดล แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำและระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง ระดับน้ำปัจจุบันสูง 4.50 เมตร คิดเป็น 43 % ความจุลำน้ำ (ระดับตลิ่ง 10.37 เมตร) แนวโน้มลดลง ในส่วนการเก็บกักน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก  95 % ยังคงการระบายน้ำวันละ 4.91 ล้าน ลบ.ม./วัน  และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำเก็บกัก 81 %  ระบายน้ำวันละ 0.43 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์โดยรวมปกติ

ในส่วนแม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำภาค แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทอง และแม่น้ำชมพู ปริมาณน้ำ และระดับน้ำลดลงจากเมื่อวาน สถานการณ์น้ำโดยรวมปกติ แม่น้ำยมสายหลัก จ.สุโขทัย ที่สถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ปริมาณน้ำไหลผ่าน 202.40 ลบ.ม./วินาที  (ปริมาณน้ำลดลงจากช่วงที่เคยไหลผ่านสูงสุด 1,704 ลบ.ม./วินาที่ เมี่อ 27 ส.ค.2567 ) และในช่วงที่ไหลผ่าน อ.เมือง จ.สุโขทัย ที่สถานีวัดน้ำ Y.4. อ.เมือง ปริมาณน้ำไหลผ่าน 32.01 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูง 3.15 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 5.00 เมตร แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เกิดจาก ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำยม พื้นที่ฝั่งขวา(คลองแม่รำพัน, คลองแม่มอก, ห้วยท่าแพ) ไหลหลากลงมาสมทบแม่น้ำยม ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งและคันคลองขาดแนวโน้มเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

แม่น้ำยมสายหลัก ในช่วงที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ  จ.พิษณุโลก ยังคงมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง (ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 948.80 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูง 9.75 ม. (สูงกว่าตลิ่ง + 3.35 เมตร/ และสูงกว่าระดับวิกฤติเขตชุมชน +2.25 เมตร) ระดับน้ำเพิ่มจากเมื่อวาน 3 ซม. มีอัตราการเพิ่มขึ้นลดลง แนวโน้มเริ่มทรงตัว ในส่วนแม่น้ำยมสายเก่าที่รับการระบายน้ำจาก จ.สุโขทัย ผ่าน ปตร.ยมเก่า วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 100 ลบ.ม./วินาทีไหลผ่านลงมาที่ อ.พรหมพิราม อ.เมือง ลงมา อ.บางระกำ ไปบรรจบกับแม่น้ำยมสายหลัก ที่ ต.บางระกำ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งจุดเสี่ยง +0.60 เมตร การดำเนินการ หน่วยงานกรมชลประทาน เร่งซ่อมแซมเสริมคันป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง สำหรับพื้นทุ่งหน่วงน้ำตาม “โครงการบางระกำโมเดล” พื้นที่รองรับน้ำหลากหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตชลประทาน (ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) เก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 210,741 ไร่ ปริมาณน้ำที่หน่วงน้ำ 572 ล้าน ลบ.ม. (143%) มีแนวโน้มลดลง

ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำในการเร่งระบายน้ำจากทุ่งบางระกำ ที่มีปริมาณน้ำเกินศักยภาพปัจจุบัน จะดำเนินการโดยลดการระบายน้ำเข้าจากแม่น้ำยม ผ่าน ปตร.ยมเก่า ลงมาที่ทุ่งหน่วงน้ำโครงกาวบางระกำโมเดล, เพิ่มการระบายน้ำ จากแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน ผ่านคลอง DR-15.8 และ DR-2.8, ทดน้ำเหนือเขื่อนนเรศวร เพี่อลดระดับแม่น้ำน่าน เพิ่มศักยภาพการระบายแม่น้ำยม, ลดการระบายน้ำ ของเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อช่วยลดระดับแม่น้ำน่าน เพิ่มศักยภาพการระบายแม่น้ำยม, ทาง สชป.3 ได้ดำเนินการเชิง ป้องกัน โดยการบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ กรมชลประทาน ปภ., อบจ, ท้องถิ่น  โดยการเสริมกระสอบทรายจุดเสี่ยง และสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน นำเครื่องจักรเข้าไปเสริมคันดินในคลองเมม- คลองบางแก้ว แม่น้ำยมสายเก่า เพื่อลดผลกระทบ ไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่เกษตรที่ยังไม่เก็บเกี่ยวและทางสัญจรให้สามารถสัญจรได้ และสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายสู่แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน

สำหรับแผนการระบายน้ำในทุ่งบางระกำในสภาะปกติ จะเพิ่มการระบายน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. และระบายน้ำออกให้เหลือในระดับเก็บกักในคลองธรรมชาติและแปลงนา ไม่เกินวันที่ 30 พ.ย.2567 เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2567 ตามปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปรังของลุ่มเจ้าพระยา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า