อินทผาลัมสวน “ลุงตู้” เริ่มเก็บขายแล้วชวนลิ้มลองสายพันธ์ุเบรม ที่หวาน กรอบ อร่อย
สวนแสงจันทร์ฟาร์มเริ่มโกยเงินจากผลผลิตอินทผาลัมในสวนกว่า 300 ต้น สายพันธุ์เบรมถือเป็นราชินีของสวนปีนี้ออกผลผลิตปีแรกได้มากกว่า 1 ตัน ปีหน้าคาดจะได้กว่า 2 ตัน ปีนี้ทางสวนคาดได้กำไรหลักล้าน
ผู้สื่อข่าวพาไปเยี่ยมชมไร่อินทผลัม จุดแลนด์มาร์คและจุดเช็คอินแห่งใหม่ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ ที่ สวนแสงจันทร์ฟาร์ม บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 1 ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ของนายสมชาย แสงจันทร์ หรือลุงตู้ เป็นเจ้าของ สวนแสงจันทร์ฟาร์ม มีเนื้อที่ปลูกอินทผาลัมกว่า 22 ไร่ ปลูกกว่า 20 สายพันธุ์ โดยมี นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลกและ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ผลักดัน ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวสายเกษตรอินทรีย์ และผู้ที่ชื่นชอบทานผลอินทผลัม สายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ รสชาติหวาน กรอบอร่อย นับเป็นผลไม้ที่ให้คุณประโยชน์กับร่างกายมากมาย
นายสมชาย แสงจันทร์ หรือลุงตู้ เจ้าของสวนแสงจันทร์ฟาร์ม เปิดเผยว่า ช่วงนี้อินทผาลัมสายพันธุ์เบรม ที่ออกผลมาได้ประมาณ 130 วันสามารถเก็บขายได้แล้ว นับว่าเป็นการเริ่มต้นฤดูกาล ส่วนสายพันธุ์ บาฮีเหลือง ผสมจั่น อายุครบ 150 วันจึงจะเก็บผลผลิตขายได้ สายพันธุ์เบรมจะขายได้ราคาดีกว่า รสชาดถือว่าเป็นอันดับ 1 ของอินทผาลัมที่ทานสด ทางสวนจะส่งขายที่ท็อปซุปเปอร์มาเก็ต ราคากิโลกรัมละ 750 บาท แบบเป็นทลายมีน้ำหนักกว่า 7 – 8 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 5,000 บาท ขณะที่แบบแพ็คเป็นกล่องน้ำหนัก 500 กรัม ขายราคา 375 บาท คาดว่าปีนี้สายพันธุ์เบรมจะเก็บขายได้กว่า 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม แต่ปีหน้าคาดว่าผลผลิตจะออกเต็มที่ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ตันแน่นอน ลูกค้าประจำที่ชอบทานอินทผาลัมสด เพราะ รสชาดหวาน นุ่ม ละมุน ยังเป็นที่ต้องการของตลาด
อินทผาลัมที่อร่อยรองลงมาจากพันธุ์เบรม เป็นสายพันธุ์ ฮาสวี่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ สีเหลืองลูกใหญ่กว่าบาฮีเหลือง ลูกเขาจะใหญ่ยาว รสชาติหวานเหมือนน้ำอ้อย แต่สายพันธุ์เบรมหวานเหมือนน้ำผึ้ง คิดว่าการที่ทานขึ้นอยู่ลิ้นของแต่ละคนที่ชื่นชอบ สายพันธุ์อื่นๆ มีเบรม ฮาสวี่ ดาฮาน ซึ่งดาฮาน ลูกใหญ่คล้ายเบรมสีใกล้เคียงเบรม สีออกสีโอรส เรานำเข้าสายพันธุ์ จากคูเวต เป็นสายพันธุ์ที่อร่อย การทำโคลนนิ่งเลือกต้นที่ดี สวนของตนมีกว่า 300 ต้นที่นำเข้า การให้น้ำใช้ระบบโซลาเซลล์ เปิดแบบเป็นโซน โซนละ 50 ต้น ทั้งสวนมี 5 – 6 โซน บนพื้นที่ 22 ไร่ หากลูกค้ามาซื้อถึงสวนจะขายกิโลกรัมละ 400 บาท ขึ้นไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ปีหนึ่งสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ปัจจุบันสวนแสงจันทร์ฟาร์มเป็นศูนย์เทคโนโลยีถ่ายทอดการปลูกอินทผาลัม จึงพร้อมให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจและตนจะพัฒนาอินทผาลัมอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก และ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้เข้ามาสนับสนุนให้สวนอินทผาลัมบ้านหอกลอง หรือสวนวิสาหกิจชุมชนบ้านหอกลอง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเคียงคู่เมืองพิษณุโลก เพราะอยู่ไม่ไกลจากเขต อ.เมืองพิษณุโลก เพียงแค่ประมาณ 10 กม. เท่านั้น อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของสมาคมในการสนับสนุนให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่เรียกว่าเวลเนสฮับ เวลเนสทัวร์ริสซึ่ม หรือศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพแบบครบวงจร ซึ่งสวนแสงจันทร์ฟาร์ม ก็สอดรับกับนโยบายของสมาคมฯ จึงได้เข้ามาส่งเสริม อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้มีทั้งโฮมสเตย์ ร้านกาแฟ แหล่งพักผ่อนที่น่าสนใจอีกด้วย