ยืนยันเขื่อนสิริกิติ์ยังแข็งแรงดีหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่
ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (ช.อขส-2.) เหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.1 ที่อำเภอดอยสะเก็ดวันนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนสิริกิติ์ ยังมั่นคงแข็งแรง และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นายชาญชัย พันธ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (ช.อขส-2.) เปิดเผยว่า กรณีเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.1 มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 04.36 น. ห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 192 กิโลเมตร ขอยืนยันว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนสิริกิติ์ และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ไม่พบความเสียหายที่ตัวเขื่อนและสันเขื่อน เขื่อนยังมั่นคงแข็งแรง และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่อ่านค่าจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่ติดตั้งที่เขื่อนสิริกิติ์ มีค่าอัตราเร่ง 0.00013 g ซึ่งต่ำกว่าค่าที่เขื่อนได้ออกแบบรับแรงแผ่นดินไหวที่ 0.1 g อีกทั้งเขื่อนสิริกิติ์ ยังมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ตัวเขื่อน มีและเจ้าหน้าที่วัดพฤติกรรมของเขื่อนอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามเขื่อนสิริกิติ์ ได้ตรวจสอบ และประเมินความมั่นคงปลอดภัยของตัวเขื่อนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดทั้งปี แม้ในยามไม่เกิดแผ่นดินไหวก็ตามเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัย และสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวเขื่อน ปริมาณน้ำแต่ละเขื่อน หรือเหตุผิดปกติกับเขื่อนต่าง ๆ แผ่นดินไหว ได้ที่ Application : EGAT One
นายชาญชัย พันธ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ว่า ปัจจุบัน (20 ตุลาคม 2565) ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 150.66 เมตร รทก. ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 6,795 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 71 มีน้ำที่สามารถใช้งานได้ 3,945 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 และสามารถรับน้ำได้อีก 2,715 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. และการระบายน้ำของเขื่อนเป็นไปตามมติของคณะกรรมการวิเคราะห์ติดตามเเนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งต้องรักษาระบบนิเวศ กันตลิ่งพังทลาย เเละในส่วนท้ายน้ำต้องระบายน้ำเพื่อเลี้ยงท้องน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้การระบายปริมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เป็นปริมาณที่น้อยที่สุดที่ยังรักษาสภาพระบบนิเวศท้ายน้ำ เนื่องจากด้านท้ายน้ำไม่มีฝนตกแล้ว
ข่าว : ประสิทธิ์ ผึ้งสุข