พ่อเมืองพร้อมชาวนครไทย พิชิตเขาช้างล้วง ปักธงชัย ตามประเพณี
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ของจังหวัดและอำเภอ นักเรียน นักศึกษารวมถึงชาวบ้าน ในอำเภอนครไทย ร่วมกันประกอบพิธีแห่ธงขึ้นเขาช้างล้วง ในงานประเพณีปักธงชัย
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 8 พ.ย.2565 นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.พิษณุโลก นายบุญเหลือ บารมี ปลัดจังหวัดพิษณุโลก นายสมศักดิ์ เกี้ยวเกิด นายอำเภอนครไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดและอำเภอ นักเรียน นักศึกษารวมทั้งประชาชนชาวอำเภอนครไทย ร่วมกันประกอบพิธีแห่ธงขึ้นเขาช้างล้วง ในงานประเพณีปักธงชัย ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยนำธงทั้ง 3 ผืนที่ผ่านการทอด้วยมือของทุกภาคส่วนในอำเภอนครไทยที่ร่วมมือร่วมใจกันทอขึ้น ขึ้นไปปักบนยอดเขา 3 ยอด ประกอบด้วย เขาฉันเพล เขาย่านไฮ และเขาช้างล้วง ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวนครไทย สืบสานมาตั้งแต่โบราณกาลมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งในปี้จัดงานระหว่าง วันที่ 30 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2565 โดยเฉพาะวันนี้เป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
โดยปีนี้ มีประชาชนจำนวนมากต่างร่วมใจแห่แหนนำธงขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง เพื่อระลึกถึงพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางในอดีต ซึ่งกาลต่อมาคือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ที่มีชัยชนะศึกและเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อกันว่าการปักธง จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี ถ้าปีใดไม่ไปปักธงจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือเภทภัยต่าง ๆ ที่จะทำให้เดือดร้อนหรือเสียชีวิตได้ ในการนำธงขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วงทุกปี ชาวอำเภอนครไทยเชื่อกันว่าผู้ใดขึ้นไปปักธงบนเขาทั้ง 3 ยอด ก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งในปีนี้บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างคึกคัก
สำหรับการนำธงไปปักบนยอดเขา 3 ผืนนั้น จะทำการปักธงที่ยอดเขาฉันเพล 1 ผืน ยอดเขาย่านไฮ 1 ผืน ซึ่งเป็นทางผ่านขึ้นไปสู่ยอดเขาช้างล้วง ที่จะปักธงผืนสุดท้าย ผู้ที่เดินทางจะเริ่มเดินจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ (เขาช้างล้วง) จะถึงเขาฉันเพลก่อน ลักษณะทางกายภาพเป็นหินขนาดใหญ่สูงประมาณ 15 เมตร มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวอำเภอนครไทยได้โดยรอบ แล้วเดินทางต่อไปยังยอดเขาย่านไฮที่มีลักษณะเป็นหน้าผาตระหง่านสูงประมาณ 15 เมตร จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังยอดเขาช้างล้วง ซึ่งมีความสูงประมาณ 15 เมตร แต่ละยอดเขาจะมีพระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปสวดเจริญพระพุทธมนต์ก่อนยกเสาธงปักขึ้นสู่ยอดเขาด้วย