“เศรษฐา” สั่งศึกษาเพิ่มพื้นที่ชลประทานยมฝั่งขวาที่บางระกำ
นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะประชาชน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สั่งการให้ศึกษาเพิ่มพื้นที่ชลประทานแม่น้ำยมฝั่งขวา ให้เกษตรกรในอำเภอบางระกำได้มีน้ำทำนาเพิ่มขึ้น และทำคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำยม ทำเอาคนบางระกำเป็นปลื้ม
เวลา 13.30 น. วันที่ 23 มีนาคม 25678 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจ และเยี่ยมชม โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พร้อมพบปะประชาชนชาวบ้านอำเภอบางระกำที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรซึ่งมารอต้อนรับจำนวนมาก โดย นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนว่า วันนี้มาติดตามงาน 3 โครงการคือ 1.ศึกษาเพิ่มพื้นที่ชลประทานฝั่งขวาของแม่น้ำยมในเขตอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเติมน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ 2.ทำคันกั้นน้ำแม่น้ำยมในพื้นที่อำเภอบางระกำเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และ 3.ตัดถนน 4 เลนสาย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก – อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ซึ่งขณะนี้ได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างไปแล้ว
ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เดินพบปะประชาชนประมาณ 30 นาที โดยชาวอำเภอบางระกำที่มาต้อนรับต่างถือป้ายเขียนข้อความขอให้พัฒนาแหล่งน้ำด้วย และชาวบ้านได้มอบดอกไม้ กระเช้า และนำผ้าขาวม้ามาผูกเอวให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเดินทางมาที่ อ.บางระกำ ในครั้ง นายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด ก่อนที่จะเดินไปตรวจเยี่ยม สภ.บางระกำ และเดินทางไปพื้นที่จังหวัดพิจิตรต่อไป
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้งจำนวน 5 บาน ปิดกั้นแม่น้ำยมที่ ต.ท่านางงาม ประตูระบายน้ำแห่งนี้มีหน้าที่สำคัญคือเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม.
โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (ปี 2562–2566) ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน ทั้งนี้ ประตูระบายน้ำท่านางงามถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้มากที่สุด อันจะช่วยในการสนับสนุนพื้นที่บางระกำโมเดลได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนี้ยังช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งในพื้นที่ อ.บางระกำ รวมทั้งพื้นที่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำยมที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปีด้วย