ชาวบ้านคัดค้านขยายบ่อขยะฝังกลบใน ต.ปากโทก
ชาวบ้าน ต.หัวรอ และ ต.ปากโทก อ.เมืองพิษณุโลก รวมตัวคัดค้านบริษัทเอกชน ที่มาเปิดเวทีรับฟังความเห็นขอขยายพื้นที่ฝังกลบที่หอประชุม อบต.ปากโทก จนเวทีล่มยกเลิกการอภิปราย ฝ่ายชาวบ้านที่มาคัดค้านเผยต้องทนกลิ่นจากขยะมาตลอดเวลาที่เปิดดำเนินการมาถึง 6 ปี และกังวลเรื่องน้ำเสียที่อาจจะมีผลกระทบกับน้ำบาดาล
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ ลานเอนกประสงค์ หมู่ 5 ตำบลปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก บริษัทไทมีดี จำกัด ได้จัดอภิปรายให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในโครงการกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล โดยมี นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานสำรวจรับฟังความเห็นโดยวิธีอภิปรายสาธารณะของประชาชน ต.ปากโทก อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก พร้อมด้วย นางพญา ธาราวุฒิ ผู้แทน บริษัทไทมีดี จำกัด และประชาชนที่อาศัยติดกับอาณาบริเวณสถานประกอบกิจการในรัศมี 1 กิโลเมตรเพื่อประกอบการขอใบอนุญาตกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลของบริษัท ไทมีดี จำกัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2561
แต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำการอภิปรายได้มีกลุ่มชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 2 หมู่ 6 หมู่ 7 ต.ปากโทก อ.เมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงบ่อขยะจำนวนกว่า 250 คน ได้มารวมตัวคัดค้านการทำประชาคมบ่อขยะในครั้งนี้ พร้อมชูป้ายประท้วง ไม่เอาบ่อขยะ และต้องการขอพบกับผู้แทน หรือนายอำเภอ เพื่อต้องการคัดค้านการทำประชาคมในครั้งนี้ โดย นายบุญเสริม บุญเผือก อายุ 69 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะเปิดเผยว่า บ้านตนเองนั้นห่างจากบ่อขยะประมาณ 200 เมตร อยากให้ไปนั่งดูกันเลยไปนั่งประชุมกันที่บ้านตนที่อยู่ใกล้บ่อขยะเลยดีกว่า จะได้รู้ว่าเดือดร้อนอย่างไร วันนี้มาเพื่อบอกว่าพวกเรา 3 หมู่บ้าน ไม่เอาบ่อขยะ เพราะมันไม่ใช่แค่มีกลิ่นเหม็นอย่างเดียว เรื่องน้ำก็มีและผลกระทบอย่างอื่นอีก ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ต้องกินน้ำบ่อเดียวกัน ถ้าน้ำเสียจากบ่อขยะลงไป ผลเสียจะเป็นอย่างไง ระดับน้ำบ่อบาดาลกับบ่อขยะอยู่ระดับเดียวกัน บ่อบาดาลสูบทุกวัน 6 ปีที่ต้องทนกันมา ยืนยันวันนี้อย่างไงก็ไม่เอาบ่อขยะและต้องการให้ปิดบ่อขยะเดิม
วันนี้พวกตนมารวมตัวกว่า 250 คน มาเพื่อคัดค้านการประชาคมขยายบ่อขยะตามที่ทางบริษัทฯ ต้องการขยายพื้นที่ออกไปอีกประมาณ 100 ไร่ พวกตนไม่ต้องการ ชาวบ้าน ต.ปากโทก และ ต.หัวรอ เองก็ไม่ต้องการ นายบุญเสริม กล่าวต่อว่า วันนี้มาเพื่อต้องการให้ย้ายบ่อขยะออกไป หรือปิดบ่อขยะตรงจุดนี้ เพราะขยะจากหลายอำเภอมาทิ้งที่นี่ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทนทรมานมานานถึง 6 ปี ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ เด็กเล็กต้องล้มป่วยเพราะมลพิษทางอากาศ สำหรับพื้นที่บ่อขยะของบริษัทฯ ได้มีการดำเนินกิจการบ่อขยะแบบฝังกลบ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หัวรอ และ ต.ปากโทก พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30 ไร่ ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยปัญหาที่พบเห็นอยู่ตลอดเวลาคือ การส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
นางวรรณพร เขียวสดใส ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ปากโทก อ.เมืองพิษณุโลก ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ห่างจากบ่อขยะประมาณ 1 กม. เปิดเผยว่า ช่วงเวลากลางคืนเราสูดกลิ่นขยะที่เหม็นเข้ามาภายในบ้านแทบทุกวัน น้ำประปาก็มีกลิ่นเหม็นทำให้ทุกวันนี้ต้องซื้อน้ำกิน ส่วนน้ำประปาก็ใช้เครื่องกรองแกว่งสารส้มแล้วก็ใช้ภายในบ้าน วันนี้มาคัดค้านไม่เอาบ่อขยะแล้ว เพราะลำพังบ่อขนาดเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากบ่อขยะ คราวนี้จะมีประชาคมเพื่อทำการการขยายพื้นที่ออกไปอีกเกือบ 200 ไร่ ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นในบ่อขยะที่จะขยายเพิ่ม ว่าจะมีการรักษามาตรฐานตามที่รับปากไว้กับชาวบ้านได้อย่างไร ชาวบ้านจึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่ไม่เอาบ่อขยะเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีกต่อไปแล้ว
ด้าน นางพญา ธาราวุฒิ ผู้แทน บริษัทไทมีดี จำกัด กล่าวว่า การทำประชาคมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยรอบแรกได้มีการทำไปแล้วโดยการทำในรอบแรกเรียบร้อยดี โดยพื้นที่ที่เราขอครั้งแรกน้อยมากโดยระยะทางพื้นที่ ต.ท่าโพธิ์ มีการปิดบ่อขยะทำให้ไม่มีจุดที่ทิ้งขยะเลย ก็เลยมีการนำขยะมาทิ้งที่บริเวณบ่อนี้ทำให้บ่อขยะของเราเต็มเร็ว ทำให้การจัดการด้านเทคโนโลยีและการทำอะไรไม่ทัน สำหรับครั้งนี้ในการขยายเพิ่มของบ่อบำบัดและการเตรียมพื้นที่ ที่จะทำการฝังกลบและพื้นที่การทำโรงงาน RDF ใช้ผลิตพลังงาน และการทำยังไงก็ได้ให้บ่อขยะเป็นศูนย์ อาจจะทำเป็นบ่อเชื้อเพลิงหรือส่งไปโรงงานไฟฟ้าที่ภูเก็ตหรือว่ามีคนนำขยะไปจัดการ ซึ่งเราก็จะมีความพยายามหาทางอยู่ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะขยายโรงงานไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทางสิ้นสุด เพราะว่าวันนี้ด้านเทคโนโลยีมีความทันสมัย เพียงแต่ต้องการพื้นที่ให้เพียงพอในการบริหารจัดการปัญหาขยะนี้ให้ได้
โดยเบื้องต้นขยะที่มีเป็นขยะชุมชนไม่ใช่ขยะติดเชื้อหรือขยะอุตสาหกรรม ไม่ใช่ขยะที่อันตราย สำหรับรูปแบบการจัดการนั้นก็คือเมื่อมีขยะเข้ามาเราก็จะนำไปสู่กระบวนการลงบ่อ ซึ่งได้มีการปูแผ่นผ้าใบรองพื้นบ่อขยะตามหลักสาธารณสุขแล้วมีการฉีดEMให้ขยะย่อยสลาย นางพญา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นก็นำดินกลบซึ่งทำอยู่ซึ่งเป็นไปตามหลักสุขาภิบาล ขณะนี้มีหน่วยงานราชการนำขยะมาทิ้งที่บ่อของเราจำนวน 35 หน่วยงาน เพราะว่าพื้นที่อื่นไม่มีบ่อขยะเนื่องจากถ้าทำใหม่ก็จะเกิดปัญหาการประท้วงคัดค้านจากชาวบ้านเช่นเดียวกันแบบนี้ บ่อขยะของเราเป็นบ่อดินเดิมเพียงแต่จะมีการขยายเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาของการจัดอภิปรายให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในโครงการกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ในวันนี้